แม้วันนี้ WARchitect ที่นำทีมโดย คุณวิน–ธาวิน หาญบุญเศรษฐ จะกลายเป็นหนึ่งในสตูดิโอออกแบบที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับทั้งจากแวดวงนักออกแบบและเหล่าเจ้าของโครงการ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าเส้นทางกว่าจะมาเป็น WARchitect นั้นไม่ง่ายเลย จากนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่เคยบอกกับคุณแม่ตอนปี 1 ว่า ‘สงสัยผมจะไม่เหมาะกับคณะนี้’ แถมยังเผื่อใจที่จะซิ่ว จนเจอจุดเปลี่ยนทำให้ยืนหยัดจนกระทั่งเรียนจบ และสานต่อวิชาชีพที่ได้ร่ำเรียนมา อะไรคือแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ WARchitect ยังเติบโตพร้อมกับพิสูจน์ผลงานอย่างไม่ย่อท้อ

จากจุดเริ่มต้นจากการวาดรูปสู่การเลือกเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
‘ผมเชื่อว่า 90% ของทุกคนก่อนที่จะมาเรียนสถาปัตย์ไม่ค่อยรู้หรอกครับว่าสถาปนิกทำงานในลักษณะไหน ต้องออกแบบหรือเขียนแบบยังไง อย่างมากเราก็รู้แค่ว่าน่าจะต้องวาดรูป แล้วก็จะมีเหตุผลในการมาเรียนคล้ายๆ กันก็ คือ เรียนวิทย์-คณิตมาแต่ไม่เก่งฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ก็เลยต้องมาเข้าคณะสถาปัตย์ เพราะอย่างน้อยก็ดูมีอาชีพที่ดี ซึ่งผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เริ่มจากเป็นเด็กชอบวาดรูป แต่พอเข้ามาเรียนสถาปัตย์จริงๆ เราก็ค่อยรู้ว่ามันไม่ใช่แบบที่เราคิดครับ’

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเพราะ ‘วิชาดีไซน์’
‘ตอนเริ่มเรียนปี 1 จะมีวิชาที่ให้ตัดกระดาษตามเพลงที่ได้ยินและให้ตัดออกมาเป็นจุดเส้นระนาบ ซึ่งวิชานี้ผมมักได้คะแนนน้อย น้อยจนผมไปบอกแม่เลยว่า ‘สงสัยผมจะไม่เหมาะกับคณะนี้’ ในวันนั้นมันเศร้านะ เพราะว่าเราตั้งใจมาก แต่พอทำทีไรก็ได้ C ทุกที จนคิดว่าอาจจะต้องซิ่วด้วยซ้ำ แต่พอเทอม 2 มีวิชาดีไซน์ และผมก็พบว่าแบบนี้ผมทำได้ดีกว่าคนอื่น บวกกับอาจารย์ชมบอกว่าขยัน พออาจารย์เขาชมเราก็ได้ใจ เราก็มาจัดมาเรื่อยๆ จนสุดท้ายมันก็ได้ A ครับ เรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ หลังจากนั้นผมเลยเปลี่ยนใจ ผมตัดสินใจไม่ซิ่วแล้ว’


หันเหจากเตรียมไปขุดทองสู่เส้นทางวิชาชีพสถาปนิกของคุณวิน–ธาวิน หาญบุญเศรษฐ
‘พอจบมาแล้วตอนนั้นรุ่นพี่ผมบอกว่า ‘อยากรวยต้องไปสิงคโปร์’ เหมือนเป็นค่านิยมในยุคนั้นที่สถาปนิกไทยต้องเตรียมจอบไปขุดทองที่สิงคโปร์ ผมก็เตรียมจอบไปขุดทองแล้วครับ ปรากฏว่ามีคุณพ่อของน้องในคณะสถาปัตย์นี่แหละ เขามาบอกว่าให้รีโนเวทรีสอร์ตให้เขาหน่อยซึ่งเป็นรีสอร์ตเล็กๆ อยู่ที่จันทบุรีครับ ผมก็รับงานนี้ ก็ไปเปลี่ยนสีใหม่ ทำอินทีเรียร์ใหม่ครับ แต่งานนี้กลับให้ประสบการณ์และทัศนคติที่มีค่ายิ่งกว่าไปขุดทองอีกครับ ก็เลยตัดสินใจว่าจะต้องลุยกับอันนี้ก่อนแล้วถ้ามันเสร็จแล้วก็ค่อยไปสิงคโปร์ ก็ลุยอยู่อยู่ประมาณ 4 เดือน ตอนนั้นผมยังเขียน Cad (โปรแกรม Autocad สำหรับเขียนแบบ) ไม่แบ่งเลเยอร์อยู่เลย แล้วก็ต้องเทียวไปเทียวมาที่จันทบุรีเพื่อตรวจงานหลายครั้ง ด้วยข้อจำกัดด้านต่างๆ ผมเลยไม่ไปสิงคโปร์แล้ว และเปลี่ยนเส้นทางมาหางานประจำแทน และพอดีตอนนั้นผมมีหนังสือของสมาคมหรือเป็นชมรมอะไรสักอย่างของจุฬาฯ เป็นหนังสือที่รวมเล่มศาลาภูเก็ต แล้วผมก็ชอบมาก คือจำได้ตอนนั้นว่ามีงานออกแบบของพี่ด้วง (คุณดวงฤทธิ์ บุนนาค แห่ง บริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด (DBALP)) และมีของพี่บี (คุณอมตะ หลูไพบูลย์ แห่ง Department of Architecture) ประมาณนี้ แต่ผมชอบศาลาภูเก็ตที่สุดก็เลยไปลองสมัครงานที่ออฟฟิศพี่บีดูและพี่บีก็รับครับ’

ชีวิตการทำงานในออฟฟิศดังของสถาปนิกจบใหม่
‘ตอนแรกผมก็ดีใจมากนะ แบบเราได้ทำงานกับไอดอล งานแรกที่ผมได้ทำเป็นโรงแรมชื่อว่า ‘ลาลู กุ้ยหลิน’ ที่เมืองจีน เขาก็จะแบ่งเป็นพาร์ทครับ ผมได้ทำพาร์ทที่เป็นสปา ก็ทำเป็นพวกศาลาสปา เป็นสปาเท้า สปาอะไรก็ว่าไป จากนั้นก็มาทำส่วนต่อเติมของที่ ‘ศิลาเอวาซอน’ อันนั้นเขามีพาร์ททำ pool villa เพิ่มครับ ก็จะเป็นประมาณนี้เยอะนะเท่าที่ผมไปทำ ของผมเองจะออกแนวเป็นเรื่อง Drawing มากกว่า อย่างเพื่อนบางคนไปลงออกแบบส่วนไหน ก็จะได้ทำอันนั้นต่อเนื่อง มันแล้วแต่จังหวะครับ แล้วก็สุดท้ายจริง ๆ ก็คือ TCDC นี่แหละที่ประกวดแบบ แต่พอประกวดแบบเสร็จ แบบที่เราประกวดแบบกับแบบที่สร้างจริงมันก็ไม่ตรงกันนะครับ ก็เรียกได้ว่า 2 ปีของผมไม่มีสร้างอะไรสักชิ้น’


ประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวได้จากออฟฟิศชื่อดังในระยะเวลา 2 ปี และอีกจุดเปลี่ยนสำคัญในวิชาชีพสถาปนิก
‘เมื่อคุณได้ทำงานออฟฟิศใหญ่ งานจะเป็นในลักษณะใครได้ทำอะไรก็มักจะได้ทำอย่างนั้นไปเพราะว่าคุณเรียนรู้เรื่องนี้ไปแล้ว คุณก็ควรจะทำมันต่อ จนหลังจากนั้นผมได้เจอเพื่อนตอนพักทานข้าวกลางวัน ผมก็ถามเขาว่าทำอะไรอยู่ เขาก็บอกว่าเขากำลังทำคอนโดแล้วก็บ้านอีกหลัง ผมก็กลับมาคิดว่าแบบ เออ เพื่อนคนนี้ทำทั้งคอนโดทั้งบ้านเลยนะ อันนี้เป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ผมรู้สึกว่าผมอาจจะอยากหาประสบการณ์กับอะไรที่มันเล็กๆ ดูครับ’
จากจุดเปลี่ยนทางความคิดสู่จุดเริ่มต้นของ WARchitect
‘หลังจากนั้นผมก็เจอกับรุ่นพี่ที่คณะนะครับ ก็ได้มีโอกาสทำงานด้วยกัน ตอนนั้นเราใช้ชื่อบริษัทว่า Octane ก่อนครับ จนเวลาผ่านไปประมาณ 2 ปีครึ่ง พี่ผิงก็เปลี่ยนใจไปทำธุรกิจเกี่ยวกับนำเข้าเครื่องดื่มกับครอบครัว ผมเองก็ย้ายออกมา แล้วก็ตั้งชื่อเป็น WARchitect แล้วก็ดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้ครับ ซึ่งสิ่งสุดท้ายที่พี่ผิงให้เราไว้ เป็นสิ่งที่มีค่ากับเรามากก็คือ โครงการออกแบบบ้านพี่หนึ่งครับ ก็นับเป็นงานแรกของ WARchitect ซึ่งออกแบบมันก็ไม่ได้นานมาก แต่ช่วงก่อสร้างมันก็ช้าไปพอสมควร ทำให้หลังจากที่เราแยกมาต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปีครึ่งครับกว่าบ้านพี่หนึ่งจะเสร็จ แต่ในระหว่างที่บ้านพี่หนึ่งจะเสร็จ งานที่เป็น Octane มันก็ทยอยเสร็จกันมาต่อเนื่อง อย่างเช่น HACHI ที่เป็นที่ตั้งบริษัท WARchitectและโครงการบ้านพี่เยาว์ ที่จริงตอนที่ก่อตั้ง WARchitect ในช่วงแรกก็ยังเป็นโอกาสที่ไม่ได้ดีมากนะครับ จนในต่อๆ มาพอบ้านพี่เยาว์เริ่มเสร็จ Hachi apartment เสร็จ ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ครับ’


WARCHITECT คือ สงครามที่ต้องแข่งขันกับตัวเองอยู่ตลอดเวลา
‘ตอนแรกผมตั้งชื่อว่า Octane กับพี่ผิง เพราะผมหาชื่อไม่ได้ แล้วผมก็ไปเจอโปรแกรม Render ที่ชื่อว่า Octane Render เราก็เลยเอาชื่อมันมาเลย เพราะมันก็ดูผู้ชายแมนๆ ดี แล้วเราก็เลยเติมคำว่า Architect & Design เข้าไป ปรากฏว่ามันยาวไป แล้วพอเปิดบริษัทใหม่เลยเอาแบบมินิมอล เพราะงานเราก็เป็นอย่างนั้น และผมเองผมก็ชื่อวินใช่มั้ยครับ W Architect แล้วมันก็อ่านออกมาเป็น WARchitect เป็นคำใหม่ของมันไปเลย คำและว่า War ที่แปลว่าสงครามนั้น มันเป็นสงครามกับตัวและใจตัวเองว่าเราจะทำอันนี้ให้มันดีได้แค่ไหน และเพื่ออะไรกันแน่ครับ’

เพราะไม่ใช่ที่ทุกโครงการจะมี Context ที่ดี งานออกแบบ WARchitect คือ การไม่ซ้ำกับตัวเอง
สมัยที่เรียนอยู่อาจารย์สอนว่าขั้นตอนในการออกแบบเริ่มต้นจากหาแรงบันดาลใจ วิเคราะห์ Context มาแปลงเป็น Content และพัฒนาไปสู่ Concept จากนั้นจึงออกมาออกมาเป็นงานออกแบบ ฟังอาจดูเหมือนราบรื่นง่ายๆตรงไปตรงมานะครับแต่เมื่อนำมาใช้ในชีวิตการทำงานจริงไม่ได้ผลลัพท์ที่ดีเสมอไป
ไม่ใช่ทุกที่ที่มี Context ที่สามารถนำมาใช้งานได้เสมอ ในทางปฏิบัติจริงผมก็จะดูว่า Owner คนนี้มีความเป็นไปได้อะไรให้เราบ้าง เขามีงบเท่าไหร่ เขายอมรับการใช้งานที่ยากได้แค่ไหน รสนิยมของเขามันไปกับสิ่งที่เรานำเสนอได้ไหม ก่อนจะเอามันมารวมเป็นก้อนเดียวกัน แต่ถ้าเกิดสมมติว่ากระบวนการนี้มันออกมาแล้วซ้ำหรือคล้ายดูไม่เวิร์ค ก็กลับไปสู่การรวมมันใหม่ แล้วก็ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้งานออกแบบที่โอเคครับ’

เป็นผลงานจาก Octane architect and design
ความท้าทายไม่ใช่ประเภทของโครงการ แต่เป็นการออกแบบที่ทำให้ทุกโครงการออกมาดีที่สุดในแบบ WARchitect
ผมคิดว่างานที่ท้าท้ายไม่ใช่งานที่ให้โจทย์ยากซับซ้อนมีข้อจำกัดกว่าเดิม แต่เป็นงานที่ลูกค้ามีความต้องการปรกติให้อิสระกับเราเหมือนเดิมอย่างที่เคยทำๆมา แต่ในเมื่อเราใช้คำตอบที่ดีที่สุดไปแล้วในครั้งต่อๆไปเราจะทำยังไงให้ดีกว่าเดิม ไม่ไปซ้ำกับแบบเดิม
ไม่เคยหมด Passion ในวิชาชีพนี้ และเผชิญหน้ากับปัญหาด้วยการอย่างมีสติ
ผมยังไม่เคยมีช่วงที่หมด passion กับการทำงาน แต่ถ้าเป็นปัญหาในการทำงานพบเจอได้ทุกวันครับ ผมว่าส่วนนึงของอาชีพสถาปนิกมันยากตรงที่มีเรื่องให้คิด ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต งานที่เราตั้งใจทำ คิดว่าคิดอย่างดีแล้วเมื่อสร้างออกมาจริงๆจะพบข้อเสียและปัญหาให้เราได้แก้ ซึ่งเราต้องแก้ปัญหาด้วยสติเรียนรู้กับมันไป ซึ่งผมเป็นคนชอบเล่าปัญหาต่างๆกับน้องในออฟฟิศฟัง ปรึกษากับน้องเสมอว่าผมคิดอะไรหรือผมเครียดอะไรอยู่ครับ ออฟฟิศผมจะมีความเป็นประชาธิปไตยสูงมากนะ ผมก็จะบอกน้องว่ามีปัญหานี้เข้ามา คิดว่ายังไงดี มีทางไหนบ้าง ผมเลยรู้สึกว่ามันเลยไม่ได้เอามาเก็บกับเราทีเดียวครับ’

เป็นผลงานจาก Octane architect and design
ทุกๆ วันคือการเริ่มต้นใหม่
‘สำหรับผมในวิชาชีพนี้มันยังแค่เริ่มต้นมากๆ ทุกวันนี้ผมก็ยังมีความคิดที่ว่าเราฟลุ๊คหรือเปล่าอยู่เสมอครับ เราสงสัยในความสามารถของเรา ก็เลยยังรู้สึกว่าเรายังไม่ได้ประสบความสำเร็จ แล้วก็ยังสงสัยในตัวเองเสมอครับ’


เป็นผลงานจาก Octane architect and design
ถึงเป้าหมายที่ฝัน แต่ยังคงไม่หยุดพัฒนาตัวเอง
‘ผมว่าผมมาถึงเป้าหมายที่ผมเคยคิดไว้ตอนเด็กๆ แล้วนะครับ อย่างเรื่องการมีออฟฟิศเป็นของตัวเอง มีอิสระในการทำงาน แล้วก็มีงาน ซึ่งตอนนี้งานก็เยอะกว่าที่ผมคิดด้วยซ้ำ ถ้าตาม Checklist เก่ามันก็ครบแล้วครับ แต่เดี๋ยวนี้ผมคิดว่าสำหรับงานผมอาจจะไม่ต้องทำให้มันหวือหวากว่าเดิม โฉบเฉี่ยวกว่าเดิม เอาแค่ว่าผมทำให้มันดีเท่าที่ผมยังข้องใจตัวเองว่ายังฟลุ๊คอยู่หรือเปล่า ทำอย่างนี้ได้อีก 5 ปี 10 ปี 20 ปี ตอนนี้มันเหมือนดอกไม้ไฟ มันระเบิดตู้มเดียว มันจะหายไปหรือเปล่า การพิสูจน์ตัวเองแค่ 2 ปีผมว่ามันยังน้อยไป แล้วผมก็อยากพัฒนาเรื่องที่ผมเล่าว่า ความไม่รู้ของเรา ความบกพร่องโดยสุจริตของเรา เราหวังว่าเราจะเรียนรู้กับมันมากขึ้นในแต่ละเรื่อง แล้วเราก็ทำให้คุณภาพที่ดีอยู่แล้วก็รักษาให้ได้ ความเป็นมืออาชีพ ทั้งการเขียนแบบ ทั้งการดูหน้างาน ให้มันดีสมกับที่ทุกคนไว้ใจเราจริงๆ ครับ’
สถาปนิก คือ อาชีพบริการ
‘ผมว่าจริงๆ หน้าที่ของสถาปนิกคือทำให้ลูกค้าสบายใจนั่นแหละ เช่น เขาสบายใจว่าคุณจะออกแบบแล้วดี เขาสบายใจว่าคุณจะนำพาผู้รับเหมาที่ดีมาหาเขา สบายใจว่าตอนสร้างแล้วคุณไม่หายไปไหน ทั้งหมดทั้งมวลมันคือความสบายใจหมดเลย เวลาที่ผมส่งสัญญาให้ลูกค้า มันเป็นแค่กระดาษบางๆ ประมาณ 3-4 หน้า บางคนก็บอกว่าทำไมน้อยจัง บางคนเขามี 15 หน้า มีเขียนทั้งหมด ปรับทุกอย่างที่ลูกค้าจะเปลี่ยนแปลง ลูกค้า Feedback ช้าก็จะปรับ ผลสุดท้ายผมคิดว่ามันก็เป็นการบริการ อาชีพนี้เป็นอาชีพที่เราต้องยืดหยุ่นครับ บริการกับเรื่องที่เราอาจจะไม่เห็นด้วย แต่เราก็ต้องเข้าใจ’


เป็นผลงานจาก Octane architect and design
ให้ฝากถึงน้องๆ ที่กำลังเรียนสถาปัตย์อยู่หรือน้องๆ ที่เพิ่งเรียนจบแล้วกำลังเริ่มต้นอยู่ในวิชาชีพนี้
‘จากที่ผมสัมภาษณ์มา หลายๆ คนมี passion มีคุณค่าในชีวิตนำเงินกันค่อนข้างมาก ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ดีของคนรุ่นใหม่ อีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องของความใจร้อน ผมเองก็เป็น เพราะผมมีประสบการณ์แค่ 2 ปีเอง แล้วผมก็มาทำเอง ผมก็เคยเป็นหนึ่งในน้องๆ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะโชคดีแบบผม หลายๆ คนก็วนกลับไปสู่วัฏจักรการทำงานประจำ ซึ่งไม่ผิดนะครับ ทำงานประจำไปด้วย แล้วก็รับงานนอกบ้าง มันก็มีศักดิ์ศรีหมดแหละครับ ไม่ว่าใครจะทำออฟฟิศตัวเอง จะทำงานกับพี่คนนั้นคนนี้ ออฟฟิศใหญ่ ออฟฟิศเล็ก ก็เลือกให้มันเหมาะ บางคนอย่างเพื่อนผมเขาก็บอกว่าเขาไม่อยากทำงานวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะเขาอยากดูแลคุณพ่อ คุณแม่ เขาอยากไปเที่ยว ไปปั่นจักรยานก็ไปเป็นชีวิตของเขา เราไม่ต้องวัดด้วยลู่วิ่งเดียวกันว่าฉันสำเร็จกว่า ฉันดังกว่าครับ ที่จะบอก คือ ให้ใจเย็นๆ ค่อยๆ สะสมประสบการณ์และเรียนรู้ตัวเองไปก่อนครับ’

WARchitect คือ อีกหนึ่งสตูดิโอออกแบบที่ยังมีเส้นทางทอดยาวในวิชาชีพให้ก้าวเดิน ด้วยภายใต้แนวความคิดในการออกแบบในทุกโครงการที่ต้องไม่ให้ซ้ำกับของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังต้องมีภาษาทางสถาปัตยกรรมที่ชัดเจน มีความเฉพาะและมีความเหมาะสมกับบริบทนั้นๆ บวกกับทัศนคติที่เชื่อในเรื่องความขยันและความมีวินัย ทำให้เรามั่นใจได้ว่า WARchitect ที่นำทีมโดย คุณวิน–ธาวิน หาญบุญเศรษฐ จะเป็นหนึ่งในออฟฟิศที่สร้างสีสันที่มาพร้อมกับคุณภาพให้กับวงการนักออกแบบได้อีกยาวไกล
คุณวิน-ธาวิน หาญบุญเศรษฐ สถาปนิกและผู้ก่อตั้ง WARchitect
สถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรมหลัก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ภาพประกอบบทความจาก WARchitect, Octane Architect & Design, Rungkit Charoenwat