WARchitect (วอร์คิเทค)
BKK-Based Architecture design firm

"FEEL THE DISTINCTNESS"

01/07/2021
Share on

“ธาวิน หาญบุญเศรษฐ” Founder และ Design Director ของบริษัท WARchitect ผู้อยู่เบื้องหลังผลงานสถาปัตยกรรมโดดเด่นหลายโปรเจกท์ ที่ได้รับการจับตามองในวงการออกแบบทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น บ้าน V60 House, Y/A/O Residence, Sleepless Residence, The Skyscape Rooftop House และอีกมากมาย ที่ถ่ายทอดแนวคิด “Feel the Distinctness” ผ่านองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมที่ “ชัดเจน และแตกต่าง” ทั้งด้าน Form, Function และ Feeling เพื่อให้ผู้ใช้งานได้ Feel the Individuality กับพื้นที่ที่เด่นชัดในความรู้สึกและความต้องการในแบบที่พวกเขาเป็น

ภาษาทางสถาปัตยกรรมในแบบ WARchitect
   “สำหรับผมมองว่าแนวคิดการทำงานของ WARchitect นั้นสะท้อนความเป็น Feel the Distinctness คืองานออกแบบที่มีความแตกต่าง และกระจ่างชัดเจนออกมา โดยเราจะเริ่มต้นพิจารณาจากโจทย์ หรือรสนิยมของลูกค้าว่าเหมาะกับภาษาแบบไหน เช่น ชอบหรูหรา เรียบง่าย หรือถ้าเทียบเป็นอาหารก็คือชอบรสเผ็ด รสหวาน หรือรสเปรี้ยว แล้วนักออกแบบอย่างเราก็เป็นพ่อครัวที่ปรุงอาหารตามสั่งเพื่อเสิร์ฟให้ลูกค้า การที่เรามีภาษาทางสถาปัตยกรรม มันทำให้สิ่งที่เรานำเสนอออกไปชัดเจน แตกต่าง และเกิดเอกลักษณ์ที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับเจ้าของบ้าน สำหรับผม ภาษามันคือการอนุญาตให้แสดงอะไร และไม่แสดงอะไรในทางสถาปัตยกรรม ภาษาจะบอกว่าให้ทำอะไรได้ แล้วไม่ให้ทำอะไรครับ”

แนวทางการออกแบบที่ผสานทั้ง Form, Function และ Feeling
   “ในการออกแบบบ้าน สิ่งแรกคือเริ่มต้นหาความต้องการของเจ้าของบ้าน เพื่อได้ออกมาเป็น Programming หรือฟังก์ชั่นของบ้าน ที่ต้องนำมาประกอบร่วมกับเรื่องงบประมาณ และบริบทที่ตั้ง (Context) จากแปลนคร่าว ๆ จะนำไปสู่การต่อจิ๊กซอว์ หรือต่อเลโก้ร่วมกันกับเจ้าของบ้าน เพื่อเสริมชิ้นส่วนความต้องการให้ครบ จากนั้นสถาปนิกจะนำชิ้นส่วนจิ๊กซอว์เหล่านั้นไปขึ้นเป็นรูปทรง ซึ่งอาจจะใช้วิธีการทดลองสเก็ตซ์ หรือขึ้น 3D ทำให้ฟอร์มกับฟังก์ชันมันเกิดขึ้นพร้อมกันได้ ส่วนเรื่องของ Feeling ส่วนใหญ่มาจากบรรยากาศ ซึ่งผมชอบสอดแทรกบรรยากาศต่าง ๆ เข้าไปผ่านฟอร์ม”

การถ่ายทอดความหมาย และความรู้สึก ให้ผู้อยู่อาศัยรับรู้และเข้าใจ
   “เรื่องของฟังก์ชั่นการใช้งานเป็นสิ่งที่วัดได้ไม่ยาก แต่สิ่งที่ยากต่อการวัด คือ เรื่องของความสวยงาม เอกลักษณ์ และความภาคภูมิใจ ที่ไม่ว่าเดินไปมุมไหนในบ้านก็รู้สึกว่าบ้านมีเรื่องราว เป็นตัวตนของเรา หรือรู้สึกภูมิใจที่จะชวนเพื่อนมาบ้าน แต่ในทางกลับกัน สำหรับคนที่ไม่ได้ให้คุณค่ากับความรู้สึกเหล่านี้ มันก็จะเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมายเลยครับ”
   "ดังนั้นการออกแบบที่ดีสำหรับผมคือ Feel the Individuality ที่ทั้งหมดต้องสะท้อนความเป็นปัจเจกของเจ้าของบ้านนั้นได้ เพราะสิ่งหนึ่งที่เงินซื้อไม่ได้คือ ความเป็นตัวตนของแต่ละคน ยิ่งมีมาก ยิ่งชัดเจนมาก ยิ่งแตกต่างมาก ก็จะทำให้สะท้อนออกมาผ่านงานออกแบบได้ชัดเจนยิ่งขึ้นครับ”

เลือกใช้วัสดุในการออกแบบอย่างไร ให้ส่งเสริม Feel the Individuality ของเจ้าของบ้าน
   “เจ้าของบ้านอาจจะมีโทนสีที่ชอบอยู่ในใจ ทำให้เราพอมองออกว่าเจ้าของบ้านหลังนี้ชอบแนว Muji โทนขาวเรียบ ๆ และสีไม้โทนอ่อน หรือเป็นสไตล์ Scandinavian ผสมผสานระหว่างเท็กซ์เจอร์พื้นหินขัด เฟอร์นิเจอร์ไม้สีเข้ม หรือสไตล์ Loft โทนสีดาร์ก ๆ เท่ ๆ เข้มขรึม โดยเราจะนำวัสดุเหล่านี้มาพิจารณาถึงความเหมาะสมกับเจ้าของบ้าน ทั้งด้านราคา การใช้งาน และความต้องการเฉพาะ ยิ่งสำหรับลูกค้าบางคนที่เปิดกว้าง ก็จะยิ่งให้เรา Explore ในเรื่องวัสดุให้มีความแปลกใหม่ และมีเอกลักษณ์ได้ยิ่งขึ้น”
   “ยกตัวอย่าง การนำวัสดุสำหรับงานภายนอกมาใช้ภายในบ้าน สร้างเป็นผนังอิฐ และผนังกรวดล้างที่ไม่ทาสี ให้ความดิบกลมกลืนกับธรรมชาติ หรือการทำผนังที่กรุด้วยแผ่นเหล็กที่ล้างด้วยกรดเกลือให้เคลือบสนิมแล้วเคลือบพื้นผิว ซึ่งถือเป็นงานคัสตอมที่สร้างเอกลักษณ์แตกต่างให้กับงานสถาปัตยกรรมหลังนั้น ๆ เป็นต้นครับ”

การเลือกใช้วัสดุสำหรับงานพื้นและผนังสำหรับภายใน เพื่อเติมเต็ม Feel the Surface
   “พัฒนาการของวัสดุปูพื้นและผนังสำหรับงานภายใน มีตั้งแต่ยุคพื้นลามิเนต ที่มีข้อดีคือสวย แต่ไม่ทนต่อน้ำและความชื้นสูง อีกทั้งยังมีปัญหาปลวกกินได้ด้วย จากนั้นจึงเป็นยุคของกระเบื้องไวนิล ที่สามารถกันน้ำได้ ติดตั้งง่าย แต่ยังมีปัญหาเรื่องการยืดหดตัว ก่อนจะมาถึงนวัตกรรมใหม่ ที่เรียกว่า SPC (Stone Plastic Composite) ซึ่งมีส่วนผสมของหินธรรมชาติและพลาสติกคุณภาพสูง ที่ทำให้แผ่นปูพื้นมีคุณภาพมากขึ้น ยืดหดตัวได้น้อยลงหลังติดตั้ง กันน้ำได้ 100% และติดตั้งง่ายขึ้นด้วยระบบ Click Lock ที่สำคัญคือให้ลวดลายสวยเนียนสมจริง เหมือนไม้ธรรมชาติมากด้วยครับ”

แนวโน้มการดึงธรรมชาติเข้ามาเชื่อมโยงกับที่อยู่อาศัย
   “ผมมองว่าบ้านในอนาคต คงไม่เหมือนในหนังแนว Cyberpunk ที่มีฉากขาว ๆ เรียบ ๆ แต่มีแนวโน้มที่บ้านจะกลับมาใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น ในงานออกแบบของผมก็จะชอบให้มีคอร์ตยาร์ด เพราะเป็นการ Outside in - Inside out ที่ง่ายที่สุด นอกจากนี้ผู้อยู่อาศัยยังชอบวัสดุอารมณ์ไม้ ๆ ในงานปูพื้น ผนัง และเฟอร์นิเจอร์ โดยอาจเลือกใช้วัสดุที่ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด ซึ่งแผ่นปูพื้นหรือผนังลายไม้ ซึ่งเราก็ต้องมาดูว่าให้โทนสี ลวดลาย และผิวสัมผัสเหมือนไม้จริงหรือไม่ รวมถึงเรื่องของขนาด และราคาที่เหมาะสมด้วยครับ”
   ตัวตน เอกลักษณ์ และธรรมชาติของมนุษย์ จึงยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในการออกแบบที่อยู่อาศัย ไม่ว่าโลกจะทันสมัยขึ้นอย่างไร และนอกจากเรื่องการใช้งาน ความปลอดภัย และความสวยงามของบ้านแล้ว เราต่างต้องการที่จะได้สัมผัสกับความสุข ความภูมิใจในตัวเอง สัมผัสกับความรู้สึกที่ดี ผ่านปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์อบอุ่นจากสมาชิกในบ้าน รวมถึงผ่านพื้นผิวของงานสถาปัตยกรรมที่สามารถถ่ายโอนพลังความเป็นธรรมชาติสู่เราได้ด้วย